บทความ

การผ่าตัดปลูกถ่ายไต

เทคนิคการผ่าตัดปลูกถ่ายไต เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดของการผ่าตัดปลูกถ่ายไต การผิดพลาดในการผ่าตัดอาจส่งผลให้เกิดการล้มเหลวของการปลูกถ่ายไตโดยไม่สามารถแก้ไขได้ประกอบกับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต มีขั้นตอนที่ซับซ้อน ดังนั้นทีมผ่าตัดปลูกถ่ายไต ต้องมีความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และความรู้ในขั้นตอนการผ่าตัดอย่างละเอียด และหนึ่งในขั้นตอนที่สำคัญในการผ่าตัดปลูกถ่ายไตคือ การเตรียมผู้ป่วยที่จะรับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต นั่นเอง

การเตรียมผู้ป่วยที่จะรับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต

ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่เข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต เป็นผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงจากโรคร่วมที่เป็น เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ถ้าเตรียมตัวเข้ารับการผ่าตัดได้ไม่ดีพอ ผู้ป่วยจะมีภาวะซีด ขาดสารอาหารโปรตีน หรือการฟอกเลือดที่ไม่เพียงพอ ทำให้เกิดภาวะของเสียคั่งซึ่งจะทำให้เกล็ดเลือดทำงานผิดปกติ มีโอกาสเกิดเลือดออกผิดปกติได้ระหว่างและหลังผ่าตัด ดังนั้นการผ่าตัดจึงต้องพิถีพิถันในการตัดเลาะ ต่อเส้นเลือด และการห้ามเลือด รวมถึงการหยุดยาต้านเกล็ดเลือดก่อนผ่าตัด

ขั้นตอนแรกของการเตรียมตัวผู้ป่วยที่จะรับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต คือการประเมินความเหมาะสมของผู้ป่วยที่จะเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ได้แก่ การซักประวัติ ตรวจร่างกาย โดยเฉพาะโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เป็นต้น การรักษาและแก้ไขภาวะสมดุลของน้ำรวมทั้งเกลือแร่ในร่างกาย เช่น การฟอกเลือดทันทีก่อนผ่าตัด เพื่อแก้ไขสภาวะสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย การตรวจร่างกายผู้ป่วยปลูกถ่ายไต นอกจากตรวจสัญญาณชีพ แล้วจะต้องตรวจท้องโดยเฉพาะบริเวณท้องน้อย ซึ่งเป็นบริเวณที่จะใส่ไต ซักประวัติและตรวจดูแผลผ่าตัดที่อาจจะมีมาก่อนผ่าตัด เช่น แผลผ่าตัดคลอดบุตร ตลอดจนตรวจชีพจรของเส้นเลือด femoral artery บริเวณขาหนีบทั้ง 2 ข้าง ที่อาจตีบตัน พบได้ในผู้ป่วยโรคไตที่มีความดันโลหิตสูงมานาน ซึ่งควรเลี่ยงการใส่ไตข้างนั้น โดยเลือกใส่ไตในท้องน้อยข้างที่เส้นเลือด femoral artery คลำได้ชัดและแรงเสมอ เมื่อกำหนดวันเวลาที่จะผ่าตัดปลูกถ่ายไตได้แล้ว จะประสานงานแจ้งให้ทีมงานทราบ ได้แก่ วิสัญญีแพทย์ พยาบาลห้องผ่าตัด ศัลยแพทย์ โดยผู้ประสานงานการปลูกถ่ายอวัยวะ (transplant coordinator) ซึ่งจะช่วยอายุรแพทย์โรคไต ในการจัดสรรคัดเลือกผู้รับไตที่เหมาะสม ผ่านการ matching ว่ามี HLA mismatch น้อยที่สุด และมี lymphocyte cross-match negative เสมอ

ขั้นตอนการเตรียมผู้เข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต มีดังนี้

  1. งดน้ำ และอาหาร หลังเที่ยงคืนในกรณีที่จะผ่าตัดในเช้าวันรุ่งขึ้น ในกรณีผ่าตัดฉุกเฉิน เช่น ไตที่ได้จากผู้เสียชีวิต ควรแจ้งผู้ป่วยงดน้ำและอาหารพร้อมไปด้วยในขณะที่ตามผู้ป่วยมารับการผ่าตัด โดยให้งดน้ำและอาหารไม่น้อยกว่า 4-6 ชั่วโมงก่อนการปลูกถ่ายไต
  2. ผู้ป่วยหยุดยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดล่วงหน้าในกรณีการบริจาคไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิต ในกรณี ไตที่ได้จากผู้เสียชีวิตซึ่งเป็นการผ่าตัดฉุกเฉิน การหยุดยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดทันที ฤทธิ์ยายังอาจตกค้างอยู่ จึงควรเตรียมสารเลือด (fresh frozen plasma) และเกล็ดเลือดก่อนผ่าตัดด้วย
  3. ผู้ป่วยควรได้รับการฟอกเลือดภายใน 24 ชั่วโมง ก่อนการปลูกถ่ายไต ซึ่งการฟอกเลือดจะได้รับการพิจารณาจากแพทย์ตามความเหมาะสมของสภาวะผู้ป่วยแต่ละราย
  4. ผู้ป่วยต้องมีปริมาณน้ำ ในร่างกายไม่มากเกินไป และมีระดับสารเกลือแร่ในเกณฑ์ปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับโพแทสเซียม
  5. เตรียมสารเลือด ตามความเหมาะสมกับสภาพผู้ป่วยแต่ละราย 
  6. ใส่สายสวนปัสสาวะ เพื่อให้ปัสสาวะไหลได้โดยสะดวก ไม่ถูกอุดตันโดยลิ่มเลือดจากการผ่าตัดต่อท่อไต 
  7. การให้ยาก่อนผ่าตัด ประกอบด้วย
    • ยาปฏิชีวนะเพื่อการป้องกันการติดเชื้อระหว่างการปลูกถ่ายไต มีสองลักษณะ คือทางเส้นเลือด และให้ทางกระเพาะปัสสาวะ 
    • ยากดภูมิคุ้มกัน
    • ยาขับปัสสาวะ

ภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไต

ภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไต แบ่งได้เป็นลักษณะ ดังนี้

  1. Surgical complication หมายถึง ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากการผ่าตัดโดยตรง หรือเป็น ภาวะที่แทรกซ้อนที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยกระบวนการทางศัลยกรรม แบ่งได้เป็น
    – ภาวะแทรกซ้อนจากเส้นเลือด (vascular complication) เช่น เส้นเลือดอุดตันจากลิ่มเลือด หรือมีภาวะเลือดออกจากเส้นเลือดที่ผ่าตัด
    – ภาวะแทรกซ้อนจากน้ำเหลือง ( lymphatic complication) ซึ่งอาจมีภาวะคั่งค้างในบริเวณที่ผ่าตัด และมีขนาดใหญ่จนไปกดเบียดไตที่ปลูกถ่าย หรือมีภาวะติดเชื้อน้ำเหลืองแทรกซ้อน
    – ภาวะแทรกซ้อนจากท่อไต (urological complication) เช่น ท่อไตที่ผ่าตัดรั่ว หรือตีบในภายหลัง
  2. ภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ (infectious complication) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย 
  3. ภาวะแทรกซ้อนจากโรคหัวใจและเส้นเลือด (cardiovascular complication) 
  4. ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ซึ่งรวมถึงผลการเปลี่ยนแปลงภูมิคุ้มกันในร่างกาย ตลอดจนผลข้างเคียงต่างๆ ของยาที่รับประทาน

เรียบเรียงโดย
นพ. ธัชชัย พิพิธพันธ์พิพิท
ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ
โรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์

การดื่มน้ำกับสุขภาพไต

การดื่มน้ำกับสุขภาพไต

เนื้องอกที่ไต

4 อาการที่บ่งบอกว่าคุณกำลังเป็น “กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน (OAB)”